Wednesday, December 5, 2007
ความจำใน National Geographic พฤศจิกายน 2550
แม้ว่า National Geographic ฉบับภาษาอังกฤษจะขึ้นปกด้วย Memory: Why We Remember, Why We Forget แต่ฉบับภาษาไทยเดือนเดียวกันกลับขึ้นหน้าแรก “เจาะจักรวาล ผ่านกล้องฮับเบิล” แต่ภายในลงเนื้อหาเดียวกัน
บทความเรื่อง “จดจำไว้ให้มั่น ในคลังข้อมูลของสมอง” โดย โจชัว โฟเออร์
พนักงานธุรการหญิงวัย 41 ปีจากแคลิฟอร์เนีย ซึ่งรู้จักกันในชื่อทางการแพทย์ว่า "เอเจ" จดจำชีวิตประจำวันตั้งแต่อายุ 11 ปีเป็นต้นมา ในขณะที่เจ้าหน้าที่เทคนิคปลดเกษียณวัย 85 ปีที่รู้จักกันในชื่อ "อีพี" จำได้เพียงปัจจุบันขณะ ถ้าเธอมีความจำดีที่สุดในโลก เขาก็มีความจำแย่ที่สุด
"ความจำของฉันหลั่งไหลเหมือนหนังที่ต่อเนื่องและควบคุมไม่ได้" เอเจบอก เธอจำได้ว่าในวันอาทิตย์ที่ 3 สิงหาคม ปี 1986 เวลา 12.34 น. เด็กหนุ่มที่เธอหลงรักโทรศัพท์มาหาเธอ เธอจำรายละเอียดของรายการ เมอร์ฟีบราวน์ เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม ปี 1988 ได้ และจำได้ว่า เธอกินมื้อเที่ยงกับพ่อที่โรงแรมเบเวอร์ลีฮิลส์เมื่อวันที่ 28 มีนาคม ปี 1992 เอเจจำเหตุการณ์สำคัญของโลก การเดินไปซื้อของที่ร้านขายของชำ สภาพอากาศ และอารมณ์ของเธอได้ จะว่าไปแล้วเวลาเกือบทุกวันบันทึกอยู่ในหัวเธอ การหลอกให้เธองงคงไม่ง่ายนัก
คนที่มีความจำดีผิดปกติเช่นนี้มีไม่มากนัก ว่ากันว่าคิม พีก อัจฉริยบุคคลวัย 56 ปี ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดภาพยนตร์เรื่อง เรนแมน ท่องจำหนังสือได้เกือบ 12,000 เล่ม (เขาใช้เวลาอ่านหนังสือแต่ละหน้าเพียง 8-10 วินาที) "เอส" นักข่าวชาวรัสเซียที่อะเล็กซันเดียร์ ลูเรีย นักประสาทจิตวิทยา (neuropsychologist) ชาวรัสเซีย ทำการศึกษาเป็นเวลา 30 ปี สามารถจดจำคำ ตัวเลข และพยางค์ที่ไม่มีความหมายอันยาวเหยียดได้นานหลายปีหลังจากได้ฟังเพียงแค่ครั้งเดียว แต่เอเจไม่เหมือนใคร ความทรงจำพิเศษของเธอไม่ได้มีไว้สำหรับจดจำข้อเท็จจริงหรือตัวเลข แต่เป็นชีวิตของตัวเธอเอง
อันที่จริงการจำรายละเอียดของประวัติชีวิตที่ไม่หมดสิ้นนี้ยังไม่เคยมีมาก่อนและยังมีการศึกษาน้อยมากเสียจนกระทั่งเจมส์ แมกกาฟ, เอลิซาเบท พาร์กเกอร์ และแลร์รี คาฮิลล์ นักประสาทวิทยาศาสตร์ (neuroscientist) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่เออร์ไวน์ ผู้ติดตามศึกษาเอเจตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ต้องบัญญัติศัพท์ทางการแพทย์ขึ้นใหม่เพื่อเรียกลักษณะอาการของเธอว่า กลุ่มอาการไฮเปอร์ไทเมสติก (hyperthymestic syndrome ) หรือการจดจำมากเกินไป
อีพีสูง 180 เซนติเมตร ผมขาวแสกเรียบร้อย และมีหูยาวกว่าปกติ เขามีบุคลิกดี เป็นมิตร สุภาพ และหัวเราะง่าย ดูเผินๆเหมือนคุณตาใจดี แต่เมื่อ 15 ปีก่อน เขาถูกไวรัสโรคเริมทำลายสมองจนเหลือแต่แกนเหมือนผลแอปเปิลโดนแทะ
เมื่อเริ่มทุเลา เนื้อสมองส่วนกลางของกลีบขมับขนาดเท่าผลองุ่นสองก้อนก็หายไปพร้อมความทรงจำส่วนใหญ่ของเขา เชื้อไวรัสโจมตีเข้าเป้าอย่างไม่น่าเชื่อ สมองส่วนกลางของกลีบขมับซึ่งมีอยู่สองฝั่งของสมอง ประกอบด้วยโครงสร้างโค้งเรียกว่าฮิปโปแคมปัสและส่วนใกล้เคียงที่ร่วมกันปฏิบัติภารกิจอัศจรรย์ในการเปลี่ยนการรับรู้ของเราไปเป็นความทรงจำระยะยาว ความทรงจำไม่ได้เก็บไว้ในฮิปโปแคมปัส แต่อยู่ในรอยหยักของสมองชั้นนอก หรือนีโอคอร์เทกซ์ แต่ฮิปโปแคมปัสเป็นส่วนของสมองที่ทำให้ความทรงจำคงอยู่ ฮิปโปแคมปัสของอีพีถูกทำลาย และเมื่อไม่มีฮิปโปแคมปัส เขาก็เหมือนกล้องยันทึกภาพวิดีโอไร้หัวอัด นั่นคือมองไม่เห็น แต่จำไม่ได้
ภาวะสูญเสียความจำของอีพีมี 2 แบบคือ แบบเคลื่อนไปข้างหน้า ซึ่งหมายความว่าเขาสร้างความทรงจำใหม่ขึ้นไม่ได้ และแบบย้อนหลัง นั่นคือเขาจำเรื่องเก่าๆไม่ได้เช่นกัน อย่างน้อยก็ตั้งแต่ปี 1960 เป็นต้นมา เขาจำชีวิตวัยเด็กและการเป็นลูกเรือสินค้าสมัยสงครามโลกครั้งที่สองได้ชัด แต่เท่าที่เขาจำได้ น้ำมันราคาลิตรละ 25 เซนต์ และมนุษย์ยังไม่เคยไปดวงจันทร์ เอเจและอีพีนั้นอยู่คนละขั้วของความทรงจำมนุษย์ และอาการของพวกเขาก็ทำให้เราเข้าใจได้ดีกว่าการตรวจสมองใดๆว่า ความทรงจำอาจส่งผลต่อเราอย่างไรได้บ้าง ถึงแม้ว่าคนส่วนใหญ่จะอยู่ตรงไหนสักแห่งระหว่างขั้วความทรงจำทั้งสอง นั่นคือการจำได้ทุกอย่างหรือจำอะไรไม่ได้เลย แต่เราต่างมีประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมอย่างเอเจ และเผชิญชะตากรรมที่น่ากลัวอย่างอีพีด้วยกันทั้งนั้น ก้อนเนื้อยับย่นน้ำหนักราว 1.3 กิโลกรัมที่อยู่ตอนบนของกระดูกสันหลังสามารถเก็บรายละเอียดที่เล็กน้อยที่สุดเกี่ยวกับประสบการณ์วัยเด็กไว้ได้ชั่วชีวิต แต่กลับไม่อาจจำหมายเลขโทรศัพท์ที่สำคัญที่สุดไว้แค่สองนาทีได้ ความทรงจำแปลกเช่นนี้เอง
ความทรงจำคืออะไร สิ่งที่นักประสาทวิทยาศาสตร์บอกได้ดีที่สุดในตอนนี้ก็คือ ความทรงจำคือรูปแบบของการเชื่อมโยงระหว่างเซลล์ประสาทในสมองที่ถูกบันทึกไว้ สมองของคนทั่วไปมีเซลล์ประสาทอยู่ราว 100,000 ล้านเซลล์ แต่ละเซลล์สามารถเชื่อมต่อกับเซลล์ประสาทอื่นๆได้อีก 5,000 ถึง 10,000 จุด ซึ่งทำให้มนุษย์มีจุดประสานประสาททั้งหมดประมาณ 500 ถึง 1,000 ล้านล้านจุด เป็นจำนวนมหาศาลเมื่อเทียบกับห้องสมุดรัฐสภาที่มีข้อมูลสิ่งพิมพ์ทั้งหมดเพียง 32 ล้านล้านไบต์ ทุกๆความรู้สึกที่เราจดจำได้และทุกความคิดคำนึงของเราจะเปลี่ยนแปลงการเชื่อมต่อภายในเครือข่ายอันมหาศาลนี้ จุดประสานประสาทอาจแข็งแรงขึ้น อ่อนแอลง หรือก่อตัวขึ้นใหม่ได้ สภาวะทางกายภาพของเรามีการเปลี่ยนแปลงไป อันที่จริงมันเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาแม้ขณะที่เราหลับ
แผนที่ความทรงจำในหน้า 84 น่าสนใจมากสำหรับผู้สนใจเรื่องสมอง
และแผนภูมิกระบวนการในการจดจำก็ทำให้เราเข้าใจความจำดีขึ้น
อ่านเรื่องราวทั้งหมดอย่างจุใจได้จาก นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment