Wednesday, June 4, 2008

เมื่อคนไทยตื่นกระแสสร้างอัจฉริยะ ขาขึ้นของเครื่องมือพัฒนาสมอง !

มีใครบ้างไม่อยากเป็นคนเก่ง เพราะข้อหนึ่งในทฤษฎีของมาสโลว์ ด้านความต้องการด้านจิตใจของมนุษย์ คือ ความต้องการการยอมรับจากคนในสังคม เมื่อกระแสความอยากเป็นอัจฉริยะถูกปลุกขึ้นมาอีกครั้งโดยวนิษา เรซ หรือหนูดี ผู้เชี่ยวชาญด้านอัจฉริยภาพจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ทำให้คนเห็นว่าความเป็นอัจฉริยะสามารถสร้างได้ สังคมก็ให้ความสนใจอย่างมาก ส่งผลให้หนังสือของหนูดีติดอันดับหนังสือขายดีสูงสุดในร้านหนังสือแทบทุกที่จนขาดตลาด ในกระแสนี้ทำให้เครื่องมือเพื่อการสร้างอัจฉริยะต่างได้รับความสนใจตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นจินตคณิตการทำแผนที่ความคิด (mind map) ที่ได้มีการเพิ่มเข้าไปในหลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการหรือการฝึกให้ทำซ้ำ ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองให้ความสนใจส่งลูกหลานไปเรียนในโรงเรียนพิเศษที่มีการสอนด้านนี้ที่มีการขยายตัวอย่างมากอย่างโรงเรียนคุมอง ที่มีการขยายสาขาไปกว่า 380 แห่ง มีจำนวนนักเรียนประมาณ 74,127 คน ที่วิธีการสอนจากประเทศญี่ปุ่นในด้านคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ โดยให้เด็กฝึกทำซ้ำ ๆ เพื่อเป็นการฝึกฝนความจำ หรือการสอนการใช้แผนที่ความคิดที่บูซาน เซ็นเตอร์ ซึ่งจะให้ผลดีทางด้านความจำและสติปัญญาที่มีผู้เรียนตั้งแต่ระดับอนุบาลไปจนถึงคนทำงาน "ธัญญา ผลอนันต์" ผู้อำนวยการสถาบันนวัตกรรมความจำและวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านการใช้มายด์แม็ป กล่าวว่า ต้องขอบคุณ คุณวนิษา เรซ ที่ปลุกกระแสเรื่องการฝึกฝนการทำงานของสมองขึ้นมา ซึ่งจริง ๆ แล้วตอนนี้มันเป็นกระแสโลกที่มาจากอาจารย์ของคุณหนูดี คือ ดร.โฮเวิร์ด การ์ดเนอร์ แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด สหรัฐอเมริกา เจ้าของ "ทฤษฎีพหุปัญญา" ที่บอกให้รู้ว่าต้องทำตัวอย่างไรถึงจะใช้สมองได้อย่างคุ้มค่าและมีศักยภาพที่สุด สำหรับในไทยเริ่มในยุคที่หลวงวิจิตร วาทการ ไปเรียนที่ฝรั่งเศสและนำความรู้เรื่องการฝึกฝนตนเองมาเขียนเป็นหนังสือมากมาย อันนั้นเป็นต้นกระแสเมื่อ 70 กว่าปีที่แล้ว รุ่นถัดมาก็เป็นรุ่นของหมอประเวศ วะสี สุวลักษณ์ ศิวลักษณ์ นักเขียนนักคิดต่าง ๆ ประมาณ 40 ปีที่ผ่านมา ปัจจุบันคลื่นรุ่นใหม่เป็นรุ่นคุณหนูดีก็จะเกิดกระแสที่บอกว่าอัจฉริยะสร้างได้ "ตอนนี้มันมีกระแส 2 อย่างที่เป็นเหตุผลทำให้คนอยากเป็นอัจฉริยะ อันแรก มาแรงมาก คือฝึกเพื่อการไปสอบแข่งขัน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ดี แต่น่าจะฝึกไปเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่า กับคนอีกกลุ่มที่ฝึกเพื่อความดึงศักยภาพของมนุษย์ที่สมบูรณ์ ออกมาใช้ในทางที่เป็นประโยชน์ในการดำเนินชีวิต ซึ่งอยากสร้างให้เกิดกระแสแบบนี้มากกว่า" อัจฉริยะยุคนิวเรอเนสซองซ์ เขายังบอกว่า สมัยนี้เราเรียกว่านิวเรอเนสซองซ์ ที่เชื่อว่ามนุษย์เราฝึกได้ สร้างได้ เป็นเหมือนกาลิเลโอหรือดาวินชีที่คนกลุ่มนี้เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนเก่ง ๆ และได้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกัน จึงเกิดการคิดต่อเพื่อสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ตอนนี้ก็กำลังเป็นเช่นนั้น เป็นยุคที่เกิดจากการเชื่อในสมองของคุณเอง มีความเชื่อใหม่ ๆ ว่าความจำนั้นฝึกได้ เราก็รับกระแสนั้นมา ถึงไม่เกิดมาเก่งก็สามารถฝึกให้เก่งได้ ตอนนี้เราเกาะกระแสนั้นอยู่ คนกลุ่มนี้มีความเชื่อว่าสมองสามารถฝึกได้และมีการนำศาสตร์ใหม่ ๆ มาใช้แทนที่ศาสตร์เก่าที่ล้าสมัย mind map ไม่มีวันตาย ธัญญาได้นำมายด์แม็ปของ ดร.โทนี บูซาน (Tony Buzan) ชาวอังกฤษ เข้ามาเผยแพร่ในประเทศไทย เนื่องจากเห็นความสำเร็จจากลูกของตนเองที่มีความจำดีและมีผลการเรียนดีขึ้นหลังจากใช้มายด์แม็ป "มีคนเริ่มสนใจมายด์แม็ป จากความสำเร็จของตัวมันเอง และเกิดการบอกต่อ เห็นว่ามันดีจริง ก็ไม่ต้องโฆษณา เด็กใช้เรียน คนทำงานใช้เพื่อทำงานทะลุเป้า ผู้บริหารใช้ในการวางแผน ปัญหาตอนนี้คือมีคนที่เรียนแล้วนำไปใช้น้อย ส่วนคนที่นำไปใช้เห็นผลทันทีว่า การทำงานดีขึ้น เชื่อว่าจะเป็นกระแสไปอีกนาน เพราะเมื่อเป็นของจริงมันไม่มีวันตาย คนนำไปใช้ได้จริง" ถึงแม้อัจฉริยภาพของคนเราจะมีอย่างน้อย 8 ด้าน ที่ประกอบด้วย ด้านภาษาและการสื่อสาร, ด้านร่างกายและการเคลื่อนไหว, ด้านมิติสัมพันธ์และจินตภาพ, ด้านตรรกะและคณิตศาสตร์, ด้านการเข้าใจตนเอง, ด้านมนุษยสัมพันธ์และการเข้าใจผู้อื่น, ด้านการเข้าใจธรรมชาติ, ด้านดนตรีและจังหวะ แต่สิ่งที่จะทำให้ก้าวสู่ความเป็นอัจฉริยะได้ ธัญญาได้แนะนำไว้ 3 ข้อ คือ 1.ต้องมีความเชื่อมั่นว่าเราสามารถฝึกได้ 2.เลือกวิธีในการฝึกฝนโดยดูคนอื่นว่าเขาทำอย่างไรแล้วสำเร็จ 3.เมื่อเชื่อแล้วเราก็ฝึกตามนั้นก็จะประสบความสำเร็จ อย่างที่อาจารย์ระพี สาคริก บอกว่า จะทำสิ่งใดก็ตามต้องจับให้มั่น แล้วคำตอบออกมาจะสำเร็จเหมือนกันหมด คนไทยฝึกได้ จากความตื่นตัวในกระแสอัจฉริยะอย่างมากของคนในสังคม สถาบันนวัตกรรมความจำและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยร่วมกันจัดงาน Thailand Open Memory Championships & Mind Map Festival 2008 เพื่อคัดเลือกนักจำอัจฉริยะแห่งประเทศไทยเป็นตัวแทนแข่งขันระดับเอเชียและระดับโลก ที่จะจัดขึ้นในวันศุกร์ที่ 4 และวันเสาร์ที่ 5 กรกฎาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 09.00-17.00 น. ที่มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และการตัดสินการประกวดมายด์แม็ปประจำปี 2008 "วัตถุประสงค์ที่ต้องผลักดันเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะความจำเป็นเรื่องสำคัญ และคนไทยเองก็เริ่มตระหนักเรื่องความจำ ก็เหมือนเป็นการจุดพลุว่า ให้คนไทยรู้ว่ามันมีการแข่งขันแบบนี้ในระดับโลก และใคร ๆ ก็ฝึกได้ เป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยการแข่งขันในลักษณะนี้จัดขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อ 1995 ที่ประเทศอังกฤษ ผมเคยไปดูการแข่งขันที่ประเทศมาเลเซียเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ก็เห็นว่าเราน่าจะจัดบ้าง เราอยากให้เด็กมีความตื่นตัว ความจริงแล้วคนไทยไม่ด้อยกว่าคนอื่น เพียงแต่ขาดความมั่นใจ" อ.ธัญญากล่าว ภายในงานยังมีงานสัมมนาด้านสมอง ความจำ และ mind map โดยรวมเหล่าวิทยากรด้านพัฒนาสมองและความจำ เช่น คุณวนิษา เรซ พันโทอานันท์ ชินบุตร และวิทยากรจากต่างประเทศ พร้อมกับการเปิดตัว mind map ที่ยาวที่สุดในโลก โดยมีกินเนสส์บุ๊กมาบันทึก อัจฉริยะแบบตะวันออก "ธงชัย โรจนกังสดาล" อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบอกว่า นอกจากกระแสการพัฒนาตนเอง เพื่อก้าวสู่การเป็นอัจฉริยะแล้ว ยังมีอีกกระแสหนึ่งที่มาจากหนังสือเรื่อง "เดอะซีเคร็ต" ที่บอกว่ายุคนี้เป็นยุคของการพัฒนาจิตใจ คือเป็นการพัฒนาความคิด จิตใต้สำนึกโยคะ จื้อกง และพระพุทธศาสนากำลังมาแรง ซึ่งมองโดยรวมก็คือศักยภาพมนุษย์ เพราะเราเรียนรู้ว่าความเจริญทางวัตถุไม่ได้ทำให้ชีวิตเรามีความสุขมากขึ้น ซึ่งอันนี้อยู่ภายใต้กระแสใหญ่ของโลกที่เรียกว่า กฎของแรงดึงดูดความคิดหรือการฝึกสติ ที่ชาวตะวันตกกำลังให้ความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะศาสตร์ของชาวเอเชีย เพราะแม้ว่าด้านหนึ่งสังคมให้ความสำคัญด้านเทคโนโลยี แต่ก็ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพสมอง เพราะยิ่งอัจฉริยะก็จะสามารถหาเงินได้มากขึ้น จึงมีคนสนใจว่าทำอย่างไรจะดึงศักยภาพมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ถ้ามองในภาพรวมก็จะเห็นว่าโลกมีทิศทางเช่นนี้ด้วย ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ News and Article - ข่าวสารแวดวงหนังสือ Thursday, 15 May 2008 15:37

No comments: